เวลาเราเข้าไปคุยกับแบงค์เกี่ยวกับการกู้บ้าน พนักงานธนาคารเขาก็มักจะอธิบายแบบที่เขาเข้าใจ แต่เราคนกู้อาจจะไม่เข้าใจ หรือถึงขั้นมึนงง ว่ามันคืออะไรวะ?
จากที่ครั้งหนึ่งผมก็เคยปรึกษาธนาคารเกี่ยวกับการกู้เพื่อทำธุรกิจ ก็เกิดปัญหาเดียวกันคือ ท่านผู้จัดการสาขา อธิบายสั้น ๆ ว่า อัตราดอกเบี้ยที่เราจะคิด สำหรับหรับการกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ ก็จะใช้เรท MLR+6 หรือ MRR+6 มีตารางมาโชว์เล็กน้อย แบบที่ผมคนดูก็มึน ๆ งงไปพักนึง คิดในใจว่า มันคืออิหยังวะ?
แต่ถ้าวันนึงเกิดคุณอยากได้บ้านสักหลังโดยที่ไม่มีเงินก้อนหลักล้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็อาจจะมีความจำเป็นในการขอคำปรึกษากับธนาคารเช่นกัน ซึ่งวันนี้ ผมจะช่วยชี้แจงแถลงไขกันว่าเราจะต้องเจออะไรบ้าง กรณีที่เราจำเป็นต้องขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านสักหลัง
แล้วดอกเบี้ยธนาคารมันมีแบบไหนบ้างล่ะ?
กรณีที่เราขอสินเชื่อเพื่อกู้บ้าน จะมีลักษณะของดอกเบี้ยเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fix Rate) มันก็สมชื่ออยู่ครับ คืออัตราดอกเบี้ยจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างที่ธนาคารกำหนดเงื่อนไขว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยให้เรากี่ปี โดยมากเราจะได้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ประเภทนี้ ในช่วง 2-5 ปีแรกของการกู้บ้านซึ่ง แล้วแต่โปรโมชั่น แล้วแต่ยี่ห้อธนาคาร ซึ่งเราสามารถศึกษาเปรียบเทียบก่อนได้ครับว่าธนาคารใหนให้เรทอัตราดอกเบี้ยถูกสุดและนานสุด ส่วนใหญ่ธนาคารจะจัดไว้ราว ๆ 3 ปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะค่อนข้างถูกกว่าปกติราว ๆ 50% หรือพูดง่าย ๆ ก็คือช่วงโปรโมชั่นของแต่ละธนาคารนั่นเอง
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating rate) มันก็สมชื่ออีกแหละครับคือมันสามารถลอยไปมาได้?? กล่าวคือมันอาจจะถูกลงหรือแพงขึ้นแล้วแต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกกำหนดโดยธนาคารกลาง หรือบ้านเราเรียกว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย” นั่นเอง ซึ่งโดยมากจะพิจารณากันเป็นรายไตรมาส หรือทุก 3 เดือน โดยวิเคราะห์จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินเป็นหลัก ส่วนใหญ่ก็จะมีการปรับดอกเบี้ยกันราว ๆ 2-3 ครั้งต่อปี หรือบางทีก็ไม่ปรับเลยเป็นต้น แต่ในดอกเบี้ยประเภทนี้ จะมีศัพท์พา งง กันสักหน่อย ดังนี้
- MLR ย่อมาจาก Minimum Loan Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจาก “ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี” โดยมากจะเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่ ๆ ที่กู้กันคราวละมาก ๆ และสามารถรับผิดชอบดอกเบี้ยได้สูง หรือกู้ระยะยาวที่มีกำหนดเวลาแน่นอน ก็อาจจะได้สิทธิพิเศษทางอัตราดอกเบี้ยมากกว่ารายเล็กสักหน่อย และเราไม่น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้อะนะ งั้นก็ข้ามไป
- MRR ย่อมาจาก Minimum Retail Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเก็บจาก “ลูกค้ารายย่อยชั้นดี” ซึ่งโดยมากจะเป็นการปล่อยกู้ “สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย” และแน่นอนว่ามันก็ตรงตัวกับแบบที่เราต้องการจะขอใช้บริการพอดี ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ คุณจะเริ่มเข้าใจเวลาคุยกับแบงค์ และผมคิดว่าเขาคงจะโชว์ตารางที่แสนเรียบง่าย(แต่เข้าใจยาก)นี้ให้คุณดูแน่นอน
แล้วธนาคารจะคิดดอกเบี้ยยังไง?

เมื่อเราเข้าใจทั้งประเภทต่าง ๆ ของดอกเบี้ย รวมไปถึงความหมายของอักษรย่ออย่าง MLR และ MRR เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็จะเข้ามาสู่ขั้นตอนของการคิดดอกเบี้ยกันครับ
ถ้าเป็นดอกเบี้ยประเภทแรกคือ อัตราดอกเบี้ยคงที่(Fix Rate) อันนี้ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ ธนาคารจะกำหนดมาแบบตายตัวเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น “รีไฟแนนซ์กับเรา อัตราดอกเบี้ยคงที่(Fix Rate) 3% 3 ปี” ก็จะหมายถึง เราจะได้เรทอัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่ 3%ต่อปี เป็นเวลา 3 ปีแรกของสัญญาเป็นต้น ซึ่งบางทีเราอาจจะเจออัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่านี้ก็มีครับ อยู่ที่เราจะเลือกกี่% ก็เอาที่สบายใจ
แต่ถ้าเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบที่สอง คืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) อันนี้ก็จะมีการคำนวนเพิ่มเล็กน้อย เช่นถ้าธนาคารบอกว่า MRR+2 หรือ MLR+2 ก็จะหมายถึง การเอาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาบวกกับเลขตัวท้าย เช่นสมมติว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย(เงินกู้)อยู่ที่ 6% ก็เอา 6+2=8% หรือบางทีโชคดีหน่อยคุณอาจจะเจอ MRR-0.25 หรือ MLR-0.25 ก็จะหมายถึง เอาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(เงินกู้) มาลบกํบเลขตัวท้าย เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 6% เท่าเดิม ก็จะเท่ากับ 6-0.25=5.75% เป็นต้น ซึ่งตัวเลขของ MRR และ MLR จะขึ้นอยู่กับการประกาศนโยบายทางการเงินในแต่ละช่วงเวลาของสภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงเลข +- ต่อท้ายก็เช่นกันครับ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้วแต่ช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
ทั้งนี้ การที่เราใส่ใจในรายละเอียดของอัตราดอกเบี้ยสักหน่อย เราอาจจะมองว่า อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดมาให้ อาจจะดูไม่แพงนัก โดยเฉพาะการกู้ซื้อบ้าน อัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่าเพื่อนเมื่อเทียบกับการกู้ประเภทอื่น แต่เมื่อคำนวนไปในระยะยาว แม้ความต่างของอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% นั่นก็หมายถึงเงินส่วนลดหรือส่วนเพิ่ม เป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบในระยะยาว
เช่น ถ้าเราคิด 3% ต่อปี
1 ล้านบาท = ดอกเบี้ย 30,000 บาท
ถ้าเราได้อัตราดอกเบี้ยที่ 2.75% ต่อปี เราจะประหยัดไปได้ 2,500 บาทต่อปี
แต่เมื่อเทียบระยะเวลาผ่อน 30 ปี
เราจะสามารถประหยัดเงินไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 75,000 บาทเลยทีเดียวครับ
ดังนั้นการที่เรามีความรู้ความเข้าใจถึงเทคนิคในการผ่อนชำระก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งช่วยเราในการวางแผนทางการเงินที่ดี ช่วยประหยัดเงินงวดในการผ่อน ประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายระยะยาว และช่วยประหยัดเวลาในการลดภาระหนี้ เพื่อให้คุณมีอิสระภาพทางการเงินที่เร็วขึ้น
คุณสามารถศึกษาเพิ่มเติมโดย คลิกที่นี่